หน้าแรก / บอร์ดสุขภาพ

ไส้เลื่อนขาหนีบในเด็ก

ไส้เลื่อนขาหนีบในเด็ก คือ ภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะภายในช่องท้องเคลื่อนตัวดันผ่านรูออกมาภายนอกช่องท้อง พบได้ 0.8 - 4.4% ในเด็ก พบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 25 ปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกที่คลอดก่อนกำหนด สามารถพบได้ถึง 16 ถึง 25% ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง พบมากที่ข้างขวา 60% ข้างซ้าย 30% พบได้ทั้งสองข้าง 10% ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อนโอกาสที่เด็กสามารถพบได้ 11.5%

สาเหตุ:
เกิดจากการที่ถุงไส้เลื่อนไม่ปิดตัว (Patent processus vaginalis) ทำให้มีรูเชื่อมต่อระหว่างช่องท้องกับถุงอัณฑะเมื่อความดันในช่องท้องมากขึ้น เช่น เด็กร้อง เบ่ง วิ่งเล่น ออกกำลังกาย ก็จะดันลำไส้หรืออวัยวะภายในผ่านรูนี้ออกมาที่ ขาหนีบ ถุงอัณฑะ หรือหัวเหน่า

อาการ:
จะพบว่ามีก้อนที่ขาหนีบหรืออัณฑะเป็นๆหายๆ หลังจากที่ผู้ป่วยวิ่งเล่น เบ่ง ร้อง หรือตอนอาบน้ำ เวลานอนก้อนจะยุบหายไป บางครั้งกรณีที่ไส้เลื่อนติดบริเวณขาหนีบเป็นเวลานาน ก้อนนูนจะไม่ยุบหายไปเด็กจะงอแงร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด อาเจียน จนถึงท้องอืด ไม่ถ่าย ไม่ผายลม มีไข้ ซึ่งบ่งบอกว่าเด็กมีภาวะลำไส้อุดตันจากก้อนไส้เลื่อนจนทำให้ลำไส้ขาดเลือดและลำไส้เน่า ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การรักษา:
รักษาด้วยการผ่าตัด ปิดช่องผนังหน้าท้องส่วนที่อวัยวะเคลื่อนตัวออกมา ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 30 - 60 นาที หลังผ่าตัดจะไม่มีอาการผิดปกติ สามารถกลับบ้าน (One day surgery) ยกเว้นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กอายุไม่ถึง 3 เดือน หรือในเด็กที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการหลังผ่าตัดต่ออีก 1 - 2 วันเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน

ในระหว่างที่รอผ่าตัดหากพบว่ามีไส้เลื่อนขาหนีบ ผู้ปกครองสามารถรับการรักษาเบื้องต้น โดยดันลำไส้กลับเข้าไปในท้องได้ (Early manual reduction) เพื่อป้องกันภาวะลำไส้ติดเป็นเหตุให้ลำไส้เน่าได้

One day surgery คือ การผ่าตัดวันเดียว ผ่าตัดเสร็จสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครองและเด็กในการเตรียมตัวก่อนมาผ่าตัด จะต้องงดน้ำงดอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 4 - 6 ชั่วโมง เพราะเด็กต้องดมยาสลบ เด็กต้องมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีไข้ ไม่มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ ไม่มีน้ำมูก หลังผ่าตัดถ้าผู้ป่วยตื่นดี ไม่มีอาเจียน กินได้ หายใจได้ดี ก็สามารถกลับบ้านได้

การผ่าตัด:
เป็นการผ่าตัดเพื่อปิดถุงไส้เลื่อน โดยการเย็บผูก (High ligation) รอยแผลผ่าตัดจะอยู่ที่ผิวหนังบริเวณผนังหน้าท้องน้อย ประมาณขอบกางเกงในหรือต่ำกว่า ประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร
ปัจจุบันการผ่าตัดสามารถทำได้หลายเทคนิค ทั้งการส่องกล้องผ่าตัด และการผ่าตัดแบบปกติ ซึ่งการผ่าตัดแบบปกติขนาดของแผลจะเล็กอยู่แล้ว หรือเล็กพอๆกันกับวิธีส่องกล้อง ดังนั้นจึงนิยมผ่าตัดแบบปกติมากกว่า เพราะเด็กตื่นเร็วกว่า ผลข้างเคียงจากการดมยาสลบน้อยกว่า และสามารถวิ่งเล่นได้ทันทีหลังผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดที่อาจพบได้
- แผลติดเชื้อพบได้ 1 - 3%
- ถุงอัณฑะบวมหลังผ่าตัด (Seroma) พบได้ใน 3 วันแรก หลังผ่าตัด แต่จะยุบลงไปเองภายใน 2 สัปดาห์ - 2 เดือน ระหว่างพักฟื้นห้ามเบ่งหรือกลั้นปัสสาวะ เนื่องจากอาจทำให้แผลปริ บวมและมีเลือดออกได้ รวมทั้งควรงดกิจกรรมที่มีการกระแทกท้องหรือเคลื่อนไหวบิดตัว เช่น ปั่นจักรยาน เตะบอล เล่นบาส ว่ายน้ำ อย่างน้อย 1 เดือน หลังการผ่าตัดหากแผลแยกหรือใหม่หลุดให้ไปที่โรงพยาบาล เพื่อทำแผล
- ภาวะไส้เลื่อนเป็นซ้ำข้างเดิม (Recurrent hernia) พบได้น้อย เกิดจากไหมที่เย็บถุงไส้เลื่อน หลุดออกก่อนกำหนด
- ภาวะไส้เลื่อนเป็นเพิ่มอีกข้าง (Contralateral hernia) สามารถพบได้

การดูแผลหลังผ่าตัดที่บ้าน:
- ระวังอย่าให้แผลเปียกน้ำ ถ้าแผลเปียกน้ำต้องทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าปิดแผลใหม่
- รับประทานยาพาราเซตามอลตามขนาดที่แพทย์สั่ง
- ถ้ามีอาการผิดปกติให้พาเด็กมาพบแพทย์ก่อนวันนัด หรือพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน
- เด็กสามารถรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ทุกชนิดไม่มีข้อห้าม
- พาเด็กมาพบแพทย์ตามนัด แพทย์จะนัดดูแผลหลังผ่าตัดประมาณ 5 - 7 วัน


สอบถามหรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 038500300 ต่อ 2132 คลินิกเด็กดี

#โรงพยาบาลจุฬารัตน์11อินเตอร์

โทรหาเราได้ที่

038-500-300

พร้อมบริการทุกวัน 24 ชม.

สมัครรับข่าวสาร

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์

หากท่านมีข้อคำถาม หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม

สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์

185/1 หมู่ 1 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24130

โทรศัพท์ : 038-500-300 แฟกซ์ : 038-500-390

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ