หน้าแรก / บอร์ดสุขภาพ

โรคตาของผู้สูงอายุ

วันเวลาที่ผ่านล่วงไป จากวัยเด็ก สู่วัยผู้ใหญ่ และผ่านเข้าสู่วัยสูงอายุ ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องได้รับการดูแล เพื่อให้สามารถมองโลกที่สดใสได้ตลอดไป การเปลี่ยนแปลงหรือความเสื่อมอาจเกิดขึ้นกับส่วนต่างๆ ของตา ทำให้เกิดโรคทางตาในผู้สูงอายุ

              เรามาดูกันดีกว่าว่า 5 โรคทางสายตาที่พบมากที่สุดในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยที่สุดมีอะไรบ้าง

  1. โรคจอประสาทตาเสื่อม

              ภาวะที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสาเหตุจากจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งโรคจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและประเภทโรคจอประสาทตาเสื่อมแบ่งออกเป็น  2 ประเภท

                  จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) มีจุดสีเหลืองบริเวณจอรับภาพตรงกลางของประสาทตาซึ่งเรียกว่า ดรูเซ่น (Drusen) สะสมอยู่ใต้จอประสาทตา จุดสีเหลืองนี้ทำลายเซลล์รับแสง ซึ่งนำไปสู่การมองเห็นที่บิดเบี้ยว โรคมักแสดงอาการอย่างช้า ๆ และในบางกรณีอาจกลายเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้

              จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) พบเพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด เกิดจากเส้นเลือดฝอยด้านหลังจอประสาทตาผิดปกติ ซึ่งมีของเหลวในหลอดเลือดรั่วไหลไปโดนจุดรับภาพ  ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างมากทั้งแบบถาวรและเฉียบพลัน

 

              อาการจอประสาทเสื่อมชนิดแห้ง อาการในช่วงแรก ผู้ป่วยอาจมองเห็นภาพเบลอและจุดดำหรือจุดบอดตรงกลางภาพ เมื่อเวลาผ่านไป จุดดำในภาพจะเริ่มขยายใหญ่ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้อ่านหนังสือลำบากหรือมองเห็นรายละเอียดไม่ชัด

              อาการจอประสาทเสื่อมชนิดเปียก ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพบิดเบี้ยว พร่ามัว เห็นจุดดำขนาดใหญ่ในภาพซึ่งเป็นผลมาจากการที่เลือดไหลไปอยู่ในจุดรับภาพ

              อาการโดยทั่วไป ที่เหมือนกันของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้ง 2 ประเภท มีดังนี้

- มองภาพบิดเบี้ยว

- มองในที่สว่างไม่ชัด หรือแพ้แสง

- ปรับสายตาจากการมองเห็นในที่มืดมาที่สว่างไม่ค่อยได้

- สูญเสียความสามารถในการมองเห็น ตามัว มีจุดดำหรือเงาบังอยู่ตรงกลางภาพ

- เห็นสีผิดเพี้ยน

สาเหตุของจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้เป็นไปตามวัย สาเหตุเกิดจากจุดรับภาพซึ่งอยู่ตรงกลางจอประสาทตามีปัญหา โดยจุดรับภาพนี้เป็นจุดที่มีความไวต่อแสง ช่วยในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดของจอประสาทตา

              จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง เกิดจากเซลล์รับแสงในจุดรับภาพเริ่มเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้น อาจมีของเสียสะสมอยู่ในจอประสาทตาซึ่งเรียกว่าดรูเซ่น และเซลล์รับแสงในจุดรับภาพมีจำนวนน้อยลง การมองเห็นบริเวณกลางภาพแย่ลง ทำให้ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเมื่อต้องอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมระยะใกล้

              จอประสาทเสื่อมชนิดเปียก เส้นเลือดฝอยเกิดใหม่ใต้จุดรับภาพขยายจำนวนมากขึ้น ถ้าเส้นเลือดฝอยก่อตัวผิดตำแหน่ง ทำให้ส่งผลเสียมากกว่าผลดีเพราะของเหลวในเส้นเลือดจะไหลซึมเข้าตา และทำให้ ประสิทธิภาพการทำงานของบริเวณจุดรับภาพลดลง

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

              โอกาสเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

- อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

- เผชิญแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตเรื้อรัง

- น้ำหนักเกินมาตรฐาน

- สูบบุหรี่

- ดื่มสุรา

- มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในหลอดเลือดสูง

 

  1. ต้อกระจก

              เป็นโรคที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวจนกระทบต่อการมองเห็น เมื่อจอประสาทตารับภาพได้ไม่ชัดเจน ผู้ป่วยจึงมองเห็นภาพต่าง ๆ อย่างพร่ามัว โรคต้อกระจกนี้ไม่ได้ทำให้มีอาการเจ็บหรือระคายเคืองใด ๆ ที่ตา โดยอาจเกิดกับตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และไม่อาจแพร่กระจายจากตาข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้

              อาการของโรคต้อกระจก โรคต้อกระจกนั้นยากที่จะสังเกตได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายปีกว่าอาการของต้อกระจกจะเพิ่มมากขึ้นจนกระทบต่อการมองเห็น โดยผู้ป่วยมักมีอาการดังนี้

              - มองเห็นได้ไม่ชัดเจน ภาพเบลอ หรือพร่ามัว

              - ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา

              - ดวงตามองเห็นในที่ที่มีแสงสลัวได้ดีกว่าแสงจ้า แพ้แสงจ้า

              - มองเห็นเป็นภาพซ้อน

              - มองภาพเป็นสีเหลืองหรือสีซีดจาง

              - มองเห็นเป็นวงแหวนรอบแสงไฟหรือหลอดไฟ

              - ผู้ป่วยอาจเข้าใจว่าความพร่ามัวเกิดจากระดับสายตาที่มีปัญหา เช่น สายตาสั้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแว่นตาหรือ             คอนแท็คเลนส์บ่อยๆ

              สาเหตุของโรคต้อกระจก

              เลนส์แก้วตาของคนเราประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนมาก ปกติโปรตีนเหล่านี้จะเรียงตัวเป็นระเบียบทำให้แสงผ่านเข้าสู่เลนส์ได้ และเลนส์มีลักษณะใส ต้อกระจกเกิดจากการที่โปรตีนในเลนส์แก้วตาสะสมเป็นกลุ่มปกคลุมพื้นที่ในบริเวณแก้วตาจนทำให้เลนส์ขุ่นมัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคต้อกระจกอาจแบ่งได้ตามสาเหตุการเกิดต่อไปนี้

                                          ต้อกระจกในวัยสูงอายุ  อายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจกที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากระบบโครงสร้างของกระจกตาที่มักเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและภาวะเสื่อมของเลนส์แก้วตาที่มีความยืดหยุ่นและโปร่งใสน้อยลง

                                           ต้อกระจกแต่กำเนิด ทารกสามารถเป็นต้อกระจกได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยอาจเกิดได้จากพันธุกรรม การติดเชื้อ การได้รับอันตรายหรือมีพัฒนาการระหว่างอยู่ในครรภ์ไม่ดี ทารกที่พบว่าเป็นต้อกระจกแต่กำเนิด ได้แก่ ภาวะกาแล็กโทซีเมีย โรคหัดเยอรมัน หรือโรคเท้าแสนปมชนิดที่ 2 ก็อาจนำมาซึ่งการเกิดต้อกระจกชนิดนี้ เด็กเล็กบางคนอาจแสดงอาการในภายหลัง โดยมักเป็นทั้งสองข้าง บางครั้งต้อกระจกนี้เล็กมากจนไม่ส่งผลต่อการมองเห็น แต่เมื่อพบว่ามีผลกระทบต่อการมองเห็นจึงจะผ่าออก

                                           ต้อกระจกทุติยภูมิ การผ่าตัดรักษาโรคตาชนิดอื่นอย่างเช่นต้อหิน การป่วยเป็นม่านตาอักเสบ หรือตาอักเสบ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อกระจกตามมาได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคความดันโลหิตสูง การได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะบางตัว ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกได้ง่าย

                                           ต้อกระจกจากการได้รับบาดเจ็บ อุบัติเหตุที่กระทบต่อดวงตา ทั้งที่ต้องผ่าตัดและไม่ผ่าตัดดวงตา สามารถนำไปสู่การเกิดต้อกระจกภายหลังได้เช่นกัน

 

  1. ต้อหิน

               เป็นโรคของดวงตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา หรือเส้นประสาทตาถูกทำลาย โดยเป็นเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมอง ปัจจัยหลักมาจากความดันในลูกตาสูง ซึ่งเกิดจากการระบายน้ำออกของลูกตามีการอุดตันและเสื่อมสภาพ ทำให้ระบายน้ำออกจากลูกตาได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนทำลายประสาทตาในที่สุด โดยอาการของโรคจะมีลักษณะและความรุนแรงแตกต่างกันไปตามประเภทของต้อหินที่เป็น ซึ่งต้อหินสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่จะเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นต้อหิน หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น

              อาการของต้อหิน

              โดยทั่วไป ต้อหินจะไม่มีอาการ หรือสัญญาณปรากฏเด่นชัดในตอนแรก และจะเกิดอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน ดังนี้

                             ต้อหินมุมเปิด เป็นต้อหินชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการไหลเวียนของน้ำในลูกตาลดลง ไม่ทราบกลไกที่แน่นอน สันนิษฐานว่าเกิดจากความเสื่อมของช่องระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้น้ำในลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้อย่างปกติ ทำให้เกิดความดันในลูกตาสูงจนส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลาย

                             ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงในระยะแรก แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้นจะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างช้า ๆ ตามัวลงเล็กน้อยคล้ายมีหมอกมาบังทางด้านข้าง ซึ่งนำไปสู่การตาบอดในที่สุด ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ยกเว้นคนที่มีการสังเกตค่อนข้างดี

                             ต้อหินมุมปิด เป็นต้อหินที่พบได้น้อยกว่าต้อหินมุมเปิด อาการจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะโครงสร้างในการระบายน้ำออกจากลูกตามีการอุดตันอย่างทันทีทันใด ซึ่งที่มุมตาจะมีเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายตะแกรงที่เรียกว่า Trabecular Meshwork เป็นทางผ่านของน้ำในลูกตา เมื่อเกิดการอุดตันขึ้น จึงทำให้เกิดความดันในลูกตาสูงตามมาจนส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลาย

                             อาการที่จะเกิดขึ้นได้ คือ ปวดศีรษะ ตาแดง ตามัว เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ และคลื่นไส้ อาเจียน

                             ต้อหินแต่กำเนิด หรือกรรมพันธุ์ เกิดในทารก หรือเด็ก อาการมักรุนแรงและควบคุมโรคได้ยาก หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกอาจพัฒนาไปจนทำให้ตาบอดได้ การตรวจหาโรคอาจทำได้ยากแต่สามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็กและสังเกตทางกายภาพได้

                             ต้อหินชนิดแทรกซ้อน อาจเกิดมาจากภาวะแทรกซ้อนจากความผิดปกติทางตา หรือเกิดจากโรคตาอื่น ๆ เช่น ได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดอุบัติเหตุที่ตา มีเนื้องอก หรือใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้พัฒนามาเป็นต้อหิน เป็นต้น

              สาเหตุของต้อหิน

              ต้อหินมีสาเหตุมาจากจอประสาทตามีความเสื่อมหรือถูกทำลาย โดยประสาทตาจะเสื่อมลงทีละน้อย และเกิดจุดบอดขึ้นที่ลานสายตา มักมีสาเหตุสำคัญมาจากความดันในตาสูงอันเนื่องมาจากการไหลเวียนเข้าและออกของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาไม่สมดุล เกิดการอุดตันบริเวณทางออกของช่องระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ซึ่งทำให้มีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตามากขึ้นแต่การไหลออกช้าลง ทำให้ความดันในตาสูงขึ้น อาจเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ หรือเฉียบพลัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคต้อหิน อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ความดันในตาสูงนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การใช้ยาหยอดขยายม่านตา การใช้ยารักษาโรคอย่างยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ การลดลงของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงยังเส้นประสาทตา และภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น

 

  1. โรคสายตายาวในผู้สูงอายุ

              ภาวะกำลังหักเหแสงของตาผิดปกติ โดยผู้ที่มีสายตายาวจะมีลูกตาเล็กหรือกระจกตาแบนเกินไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจน หรืออาจเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล ซึ่งสายตายาวในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดตั้งแต่อายุยังน้อยยังไม่ถึงวัยสูงอายุ และสายตายาวที่เกิดขึ้นเมื่อถึงวัยสูงอายุ (อายุ 40 ปีขึ้นไป) เรียกว่า สายตาผู้สูงอายุ 

              อาการสายตายาว

              อาการที่พบบ่อยของผู้ที่สายตายาว ได้แก่

              - มองเห็นวัตถุระยะใกล้ได้ไม่ชัด เช่น อ่านหนังสือ หรือร้อยด้ายกับเข็ม

              - เกิดอาการไม่สบายตาหรือปวดศีรษะจากการที่ต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ

              - มองภาพไม่ชัด โดยเฉพาะในเวลากลางคืน

              - ปวดศีรษะ เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานหนักเกินไปจากการโฟกัส มักจะปวดบริเวณหน้าผาก และจะมีอาการ          มากขึ้นเมื่อใช้สายตามากขึ้น มักไม่มีอาการในตอนเช้า แต่จะปวดศีรษะในตอนเย็น และถ้างดใช้สายตามอง                           ระยะใกล้ อาการปวดก็จะหายไป

              - แสบตาหรือตาสู้แสงไม่ได้ 

              - ตาเข เด็กที่มีสายตายาวขนาดปานกลาง ทำให้ต้องเพ่งมากตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้ตาเขเข้าใน

              สาเหตุของสายตายาว

              โดยส่วนใหญ่สายตายาวมักจะเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก และเมื่อร่างกายเจริญเติบโตขึ้นอาการก็จะหายไปได้เอง แต่ในรายที่การพัฒนาของตาได้หยุดลง (เด็กอายุประมาณ 9 ปี) และยังคงมีปัญหาสายตายาวอยู่ ดวงตาจะปรับตัวด้วยการปรับโฟกัสของตา เพื่อแก้ไขปัญหา แต่เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นการปรับโฟกัสของตาก็จะทำได้น้อยลง

              นอกจากนั้น เมื่ออายุประมาณ 40 ปี ดวงตาของคนเราจะมีความสามารถในการโฟกัสวัตถุระยะใกล้ได้น้อยลงหรือที่เรียกว่าสายตาผู้สูงอายุ โดยอาจสังเกตได้ว่าการมองเห็นในระยะใกล้เริ่มไม่ชัดเจนเหมือนก่อน และอาจมองเห็นไม่ชัดทั้งในระยะใกล้และไกลเมื่อเป็นมากขึ้น สาเหตุของสายตายาว

  1. โรคตาแห้ง

              ตาแห้ง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำตาไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงหรือการหล่อลื่นดวงตา ซึ่งการที่น้ำตาไม่พอต่อการหล่อลื่นนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตาแห้งอาจเกิดขึ้นหากน้ำตาผลิตออกมาไม่มากเพียงพอ หรือการผลิตน้ำตาที่ไม่มีคุณภาพออกมา

              อาการของตาแห้ง

              เมื่อตาแห้งก็จะทำให้รู้สึกไม่สบายตา มีอาการระคายเคือง หรือแสบตา ซึ่งอาจเกิดตาแห้งได้จากหลากหลายสถานการณ์ เช่น เมื่อโดยสารเครื่องบิน อยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ระหว่างขับขี่จักรยานยนต์ หรือหลังจากการมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยปกติอาการตาแห้งมักเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจมีอาการดังต่อไปนี้

              - มีอาการแสบ คัน ระคายเคือง หรือรู้สึกเสียดสีที่ดวงตา

              - เกิดเมือกเหนียว ๆ บริเวณรอบดวงตา

              - สายตามีความไวต่อแสงมากกว่าปกติ

              - ตาแดง

              - รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างอยู่ในดวงตา

              - มองเห็นภาพเบลอหรือตาล้า

หากว่ามีสัญญาณหรืออาการของตาแห้งดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงตาแดง ระคายเคือง ตาล้าหรือเจ็บตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งแพทย์จะตรวจดูอาการหรือส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

              สาเหตุของตาแห้ง

              สาเหตุของตาแห้งสามารถเกิดจากสิ่งที่เราเจอในทุก ๆ วัน เช่น การอยู่ในที่แจ้งที่มีลมและแดดแรง การจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกินไป หรือจากความเหนื่อยล้า และอาจมาจากการอยู่ในที่ที่มีการสูบบุหรี่ รวมไปถึงสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

              - กระบวนการตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน

              - ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines)

              - เกิดจากโรคที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการสร้างน้ำตา เช่น โรคโจเกรน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรค        ของหลอดเลือด (Collagen Vascular Diseases)

              - อาจเกิดปัญหาที่ทำให้เปลือกตาไม่สามารถปิดลงได้เป็นปกติ

 

 

ความเสื่อมตามวัยนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคนและส่วนมากแล้วไม่อาจย้อนคืนได้ เตรียมตัวรับมืออย่างมีความรู้และเข้าใจตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นก้าวย่างที่สำคัญเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและมุมมองที่สดใสในวัยที่เพิ่มขึ้น

โทรหาเราได้ที่

038-500-300

พร้อมบริการทุกวัน 24 ชม.

สมัครรับข่าวสาร

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์

หากท่านมีข้อคำถาม หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม

สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์

185/1 หมู่ 1 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24130

โทรศัพท์ : 038-500-300 แฟกซ์ : 038-500-390

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ