อาหารเค็ม
รสชาติที่จัดจ้านของอาหารไทยนั้นเป็นหนึ่งเอกลักษณ์ที่ต่างชาติชื่นชอบ แม้ว่ารสชาติเหล่านี้จะสร้างรสสัมผัสที่ดีให้กับอาหาร รวมถึงสร้างความสุขให้กับผู้กิน แต่การกินอาหารรสจัดเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ความเค็มนั้นเกิดจากโซเดียม ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อความดันโลหิตและการกักเก็บน้ำภายในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่ร่างกายขาดไม่ได้ แต่การกินอาหารที่มีรสชาติเค็มจัดเป็นประจำอาจทำให้ร่างกายได้โซเดียมมากเกินไปและอาจนำไปสู่ความผิดปกติและโรคที่ร้ายแรง โดยโรคเหล่านี้อาจป้องกันได้ด้วยการควบคุมปริมาณโซเดียมในแต่ละวัน
กินเค็มมากเกินไปอาจเสี่ยงโรค
มีโรคและความผิดปกติหลายอย่างที่อาจมีสาเหตุจากการกินเค็ม จากการสำรวจประชากรไทยนั้นประสบกับภาวะความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงหลายโรคกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรในวัยผู้ใหญ่ หรือกว่า 10 ล้านคน และยังพบผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังกว่า 8 ล้านคนอีกด้วย โดยโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากการกินเค็ม เช่น โรคกระดูกพรุน, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคไต
โรคไต
กลุ่มโรคหรือภาวะที่ทำให้ไตเกิดความเสียหายหรือทำงานผิดปกติจนเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมา เนื่องจากไตไม่สามารถฟอกเลือดหรือขับของเสียออกจากเลือดได้ตามปกติ หากป่วยเป็นโรคไต ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น หากสังเกตพบอาการที่บ่งชี้ว่าไตมีปัญหา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาให้ทันการณ์
ไต เป็นอวัยวะภายในสำคัญที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว 2 ข้าง และอยู่ในกระดูกซี่โครงบริเวณเหนือเอว ไตทำหน้าที่คัดกรองสารอาหารต่าง ๆ ภายในเลือดเพื่อให้ร่างกายนำกลับไปใช้ประโยชน์ แล้วขับน้ำส่วนเกินหรือของเสียจากเลือดออกมาในรูปแบบปัสสาวะ หากไตเกิดความเสียหายหรือไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ย่อมส่งผลระบบต่าง ๆ ในร่างกายและทำให้เกิดอาการป่วย โดยโรคไตที่มักพบบ่อย ได้แก่ ไตวาย ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ และนิ่วในไต
สาเหตุของไตวาย
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสูญเสียเลือดหรือน้ำในร่างกายมากเกินไป ป่วยด้วยภาวะความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน อาการแพ้อย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต หรือเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนทำให้ไตถูกทำลาย การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลวจนทำให้เลือดไหลเวียนไปยังไตไม่เพียงพอ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปจนเกิดภาวะไตเสื่อม มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายจนทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เกิดอุบัติเหตุโดยตรงบริเวณไต หรือไตเสื่อมตามอายุ เป็นต้น
สาเหตุของไตอักเสบ
ไตอักเสบอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งอาจไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส (Streptococcus) การอักเสบของเยื่อบุหัวใจจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Endocarditis) การติดเชื้อไวรัส การอักเสบจากโรคในระบบภูมิคุ้มกัน และกลุ่มโรคมะเร็งต่าง ๆ เป็นต้น
สาเหตุของกรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. Coli) ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบต่อเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ บางกรณีเชื้อแบคทีเรียอาจแพร่กระจายเข้าสู่กรวยไตผ่านทางกระแสเลือดได้ โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อในข้อเทียมหรือลิ้นหัวใจเทียม
สาเหตุของนิ่วในไต
นิ่วในไตอาจเกิดจากปริมาณของเกลือ แร่ธาตุ และสารต่าง ๆ เช่น แคลเซียม กรดออกซาลิก และกรดยูริกในปัสสาวะมีระดับเปลี่ยนแปลงไป โดยมีปริมาณมากเกินกว่าของเหลวในปัสสาวะจะละลายหรือเจือจางสารเหล่านี้ได้ จนเกิดการเกาะตัวเป็นก้อนนิ่วในที่สุด โดยการเกิดนิ่วในไตอาจมีปัจจัยจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิดที่มีเกลือ น้ำตาล และโปรตีนสูง การดื่มน้ำไม่มากพอในแต่ละวัน การเจ็บป่วย เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเมตาบอลิก รวมถึงการใช้ยาบางชนิดอย่างยารักษาโรคเก๊าท์บางประเภท และการรับประทานวิตามินดีเสริมมากเกินไป เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ล้วนมีผลมาจากการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารรสเค็ม คนทั่วไปไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากการรับประทานอาหารมื้อร่างกายอาจได้รับโซเดียมเพียงพอแล้ว จึงควรระมัดระวังอาหารมื้อย่อย หรือขนมที่อาจทำให้ได้รับโซเดียมเกินในแต่ละวัน
ดังนั้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป จะเป็นการรักษาสุขภาพและห่างไกลโรคที่ยั่งยืนที่สุดค่ะ