หน้าแรก / บอร์ดสุขภาพ

โรคหัวใจมีกี่ชนิด ?

จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้ประมาณ 17.9 ล้านคน และจากสถิติข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทย ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ร้อยละ 80 เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อีกทั้งข้อมูลจากกรมการแพทย์ ปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี
 
โรคหัวใจมีกี่ชนิด ?
 
▶ 


โรคหลอดเลือดหัวใจ
เกิดได้จากหลายสาเหตุ  แต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด ส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้
 
▶ โรคลิ้นหัวใจรูมาติก
โรคหัวใจรูมาติก เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่มักพบในเด็กโดยที่บางครั้งเด็กไม่มีอาการชัดเจน มาทราบอีกครั้ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พบว่าเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้น จัดว่าเป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจพิการ(ตีบ รั่ว) ที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เด็กในวัยเรียนอาจพบโรคหัวใจรูมาติกได้ประมาณ 0.35-1.4 คนต่อเด็ก 1,000 คน และในผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีพบได้ประมาณ 3 คนต่อ 1,000 คน โดยในผู้ใหญ่ลักษณะที่พบจะเป็นผลจากการอักเสบของลิ้นหัวใจในวัยเด็ก
 
ซึ่งโรคนี้เป็นผลมาจากการติดเชื้อคออักเสบ ลักษณะของอาการ คือ เหนื่อยง่าย เวลาออกกำลังจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไอเรื้อรัง มักไอเวลากลางคืน ไอแห้ง มีอาการใจสั่น อาจมีอาการไอเป็นเลือด เป็นลม หมดสติ เจ็บหน้าอก หลอดเลือดที่คอเต้นแรง ผอมแห้ง มีอาการบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้
โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
เป็นโรคที่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะบีบหรือคลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดหนากว่าปกติ เป็นต้น ซึ่งโรคที่พบบ่อย คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสีย เนื่องจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือตัน เป็นต้น ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่รุนแรงมากขึ้นจะทำให้มีอาการเหนื่อยแม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน
 
▶ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
คือภาวะที่หัวใจได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ  อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง  แต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งได้แก่ ภาวะที่หลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจเกิดการตีบตัน  เช่น จากภาวะหลอดเลือดแข็ง ภาวะนี้มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีไขมันและคราบหินปูนเกาะบริเวณหลอดเลือดจำนวนมาก จนทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตัน
 
▶โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อแรกคลอด หรือแสดงอาการมากขึ้นในภายหลังก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มที่มีอาการเขียวและกลุ่มไม่มีอาการเขียว ในกลุ่มที่มีอาการยังไม่รุนแรงมากอาจสังเกตได้ในภายหลัง เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน แต่ในกลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อยขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น
 
▶ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อย คือ หัวใจเต้นผิดจังหวะจากห้องบน หรือที่เรียกว่า Atrial Fibrillation (AF) ซึ่งจะพบในผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด โรคความดันโลหิตสูง และพบบ่อยในผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติชนิดนี้ อาจเกิดลิ่มเลือดภายในหัวใจ ลิ่มเลือดเล็ก ๆ เหล่านี้อาจหลุดลอยไปอุดหลอดเลือดเลี้ยงสมอง และเป็นต้นเหตุของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
อาการเบื้องต้น จะรู้สึกถึงผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นเร็วผิดปกติ ช้าผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่น แต่บางครั้งอาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน
 
▶ การวินิจฉัยโรคหัวใจ
การตรวจร่างกายเบื้องต้นจากแพทย์ สอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ แพทย์จะพิจารณาความเป็นไปได้และเลือกการวินิจฉัยขั้นต่อไป อาจเป็นการตรวจเลือด เอกซเรย์หน้าอก ตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินหรือวิ่งสายพาน การตรวจวิเคราะห์หัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง หรือ Echocardiography ตรวจหัวใจด้วยเครื่อง CT Scan หรือ MRI ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจบันทึกการทำงานของหัวใจ หรือตรวจด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
 
▶ ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ ที่ต้องระวัง
แบ่งออกเป็น ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ กับปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้
▶ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ เพศ, กรรมพันธุ์ และอายุ
▶ ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์,โรคความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง,โรคอ้วน, ไม่ออกกำลังกาย, การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ, โรคเบาหวาน รวมถึงความเครียด
 
▶ การป้องกันโรคหัวใจ
ทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นตรวจร่างกาย เพื่อควบคุมระดับความดันและไขมันในเลือดเป็นประจำ การรับประทานอาหารและออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดปริมาณไขมัน โซเดียม และน้ำตาลให้น้อย ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ความเศร้าและความเครียดก็อาจเป็นปัจจัยการเกิดโรคหัวใจได้ ควรพยายามผ่อนคลายให้มาก รวมทั้งรักษาสุขอนามัยให้ถูกต้องอยู่เสมอ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ



 

โทรหาเราได้ที่

038-500-300

พร้อมบริการทุกวัน 24 ชม.

สมัครรับข่าวสาร

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์

หากท่านมีข้อคำถาม หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม

สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์

185/1 หมู่ 1 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24130

โทรศัพท์ : 038-500-300 แฟกซ์ : 038-500-390

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ