ไส้ติ่ง คืออะไร?
- ไส้ติ่ง คือ อวัยวะส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหารที่อยู่บริเวณจุดต่อของลำไส้เล็กส่วนปลาย และลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ลักษณะเป็นท่อกระเปาะ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-7 มม. ความยาวประมาณ 4-7 ซม. ต่อออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้น เป็นท่อปลายตัน
ไส้ติ่งอักเสบได้อย่างไร
- ส่วนใหญ่เกิดจากมีก้อนอุจจาระขนาดเล็กไปอุดกั้นบริเวณปากกระเปาะไส้ติ่ง ทำให้มีการอุดตันของสารคัดหลั่งภายในกระเปาะไส้ติ่ง จนเกิดการบวมอักเสบภายในกระเปาะไส้ติ่งขึ้นมา
อาการแสดงของไส้ติ่งอักเสบ เป็นอย่างไร
- มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้องทั่วๆ แล้วเริ่มย้ายมาปวดด้านขวาล่าง ข้างสะดือ อาการปวดจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนเด่นชัดเมื่อปวดเฉพาะที่ด้านขวาล่าง บางคนอาจมีอาการท้องเสีย หรือปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย ถ้ามีการระคายเคืองต่อลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือกระเพาะปัสสาวะ หรืออาการปวดอาจไม่ชัดเจนถ้าไส้ติ่งฝังตัวอยู่ด้านหลังผนังลำไส้ใหญ่
การวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบ ทำได้อย่างไร
- การวินิจฉัยเบื้องต้น อาศัยจากประวัติการปวดท้อง การตรวจร่างกายโดยแพทย์ และการตรวจเลือดดูค่าการอักเสบ ระดับเม็ดเลือดขาวขึ้นสูงในกระแสเลือด และอาจมีการตรวจทางรังสีวิทยาเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่น เช่นการตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้อง การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง
การรักษาไส้ติ่งอักเสบ คืออะไร
- การรักษาตามมาตรฐานคือการผ่าตัดตัดไส้ติ่งออก ส่วนการรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อและสังเกตอาการทางหน้าท้องไม่แนะนำเพราะอัตราการหายจากอักเสบของไส้ติ่งยาก มีโอกาสไส้ติ่งอักเสบรุนแรงจนแตกติดเชื้อในช่องท้อง เข้าสู่กระแสเลือดได้
ทำไมต้องผ่าตัดแบบส่องกล้องรักษาไส้ติ่งอักเสบ ข้อดีข้อเสียต่างจากการผ่าตัดแบบปกติอย่างไร
- การผ่าตัดไส้ติ่งออกโดยทั่วไปคือการผ่าตัดเปิดแผลเดียวที่ตำแหน่งขวาล่างข้างสะดือ ขนาดแผลประมาณ 4-8 ซม. แล้วแต่ความหนาของผนังหน้าท้องผู้ป่วย ทำการผ่าตัดโดยการมองเห็นจากตาเปล่า ส่วนการผ่าตัดแบบส่องกล้อง คือการผ่าตัดโดยการเจาะรูหน้าท้องแยงกล้องวีดิทัศน์ขนาดเล็ก เพื่อฉายภาพในช่องท้องออกทางจอโทรทัศน์ และเจาะรูหน้าท้องเพิ่มอีก 2-3 รู เพื่อใส่เครื่องมือช่วยผ่าตัด
- ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องที่ดีกว่าผ่าตัดแบบเปิด คือ
1) ความเสี่ยงในการติดเชื้อของบาดแผลผ่าตัดน้อยกว่าแบบผ่าเปิด
2) การฟื้นตัวจากการเจ็บแผลจะเร็วกว่าการผ่าแบบเปิด กลับไปทำงานได้เร็วกว่า
3) โอกาสในการเจ็บแผลผ่าตัดเรื้อรังน้อยกว่าแบบผ่าเปิด
4) ในการผ่าตัดสามารถส่องกล้องเพื่อตรวจสอบอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องนอกเหนือจากไส้ติ่งได้ เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ กระเพาะปัสสาวะ หรือ มดลูก รังไข่ ในสุภาพสตรี
- ข้อเสียของการผ่าตัดส่องกล้องที่ต่างจากผ่าเปิด
1) มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยผ่าตัด
2) ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่าการผ่าตัดแบบเปิด จากเดิม 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เป็น 1-2 ชั่วโมง
3) การระงับความรู้สึกจำเป็นต้องทำการดมยาสลบเพื่อผ่าตัดเท่านั้น ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดที่สามารถเลือกเป็นการบล็อกยาชาที่ไขสันหลัง หรือการดมยาสลบ
3) มีโอกาสที่ต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดถ้ามีผลแทรกซ้อนรุนแรงขณะผ่าตัด แต่โอกาสน้อย เพราะมีการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ก่อนผ่าตัดเพื่อประเมินการรักษาก่อนเสมอ